ลักษณะของโครงงาน

ลักษณะของโครงงาน
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2524 : 4) ได้กล่าวถึงลักษณะสำคัญของโครงงานไว้ดังนี้
1. เป็นเรื่องที่นักเรียนสนใจสงสัยต้องการหาคำตอบ
2. เป็นการเรียนรู้ที่มีกระบวนการ มีระบบ ครบกระบวนการ
3. เป็นการบูรณาการการเรียนรู้
4. นักเรียนใช้ความสามารถหลายด้าน
5. มีความสอดคล้องกับชีวิตจริง
6. มีการศึกษาอย่างลุ่มลึก ด้วยวิธีการและแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย
7. เป็นการแสวงหาความรู้และสรุปความรู้ด้วยตนเอง
8. มีการนำเสนอโครงงานด้วยวิธีการที่เหมาะสมในด้านกระบวนการและผลงานที่ค้นพบ
9. ข้อค้นพบ สิ่งที่ค้นพบ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้
จิราภรณ์ ศิริทวี (2542 : 35) แบ่งโครงงาน ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. โครงงานตามสาระการเรียนรู้ เป็นโครงงานที่บูรณาการความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยม ในกลุ่มสาระการเรียนรู้เป็นพื้นฐานในการกำหนดโครงงานและการปฏิบัติ
2. โครงงานตามความสนใจ เป็นโครงงานที่ผู้เรียนกำหนดขั้นตอนตามความถนัดความสนใจ และความต้องการ โดยการนำเอาความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมจากกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ มาบูรณาการกำหนดเป็นโครงงานและการปฏิบัติ
สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ (2543 : 198) กล่าวถึงลักษณะสำคัญของโครงงานไว้เช่นกันว่า
1. ผู้เรียนได้เลือกเรื่องหรือประเด็นที่จะศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มก็ได้
2. ผู้เรียนเป็นผู้เลือกวิธีการศึกษาและแหล่งความรู้
3. ผู้เรียนเป็นผู้ศึกษาหรือลงมือปฏิบัติด้วยตนเองทุกขั้นตอน
4. การศึกษานั้นมีการเชื่อมโยงหรือบูรณาการระหว่างความรู้/ทักษะ/ ประสบการณ์เดิมกับสิ่งใหม่
5. ผู้เรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เรียน
นอกจากลักษณะสำคัญของโครงงานดังกล่าวแล้ว วิมลศรี สุวรรณรัตน์ และมาฆะ ทิพย์คีรี (2543 : 4) ได้แบ่งลักษณะของโครงงานโดยมีความสอดคล้องกับ สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ (2543 : 199) โดยแบ่งโครงงานออกเป็น 2 ลักษณะ พอจะสรุปได้ดังนี้
1. โครงงานตามสาระการเรียนรู้ เป็นโครงงานที่ผู้เรียนเลือกหัวข้อที่จะศึกษาโดยมีกรอบการทำงานภายใต้จุดประสงค์ของการเรียนรู้ในเนื้อหาแต่ละเรื่องมากำหนดเป็นหัวข้อโครงงาน
2. โครงงานตามความสนใจ เป็นโครงงานที่ผู้เรียนสนใจจะศึกษาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งอาจอยู่นอกเหนือจากสาระการเรียนรู้ในบทเรียน แต่ใช้ประสบการณ์จากการเรียนรู้ไปแสวงหาคำตอบในเรื่องที่ผู้เรียนสนใจ
สรุปได้ว่า ลักษณะของโครงงาน เป็นการให้ผู้เรียนเลือกหัวข้อหรือประเด็นที่จะศึกษาด้วยตนเอง แล้วลงมือปฏิบัติโดยอาศัยการศึกษา ลงมือปฏิบัติและมีการแลกเปลี่ยนความรู้จากประสบการณ์จากการเรียนเพื่อค้นหาคำตอบ