ประเภทของโครงงาน

ประเภทของโครงงาน
สำหรับประเภทของโครงงานที่ผู้เรียนจะปฏิบัติในแต่ละระดับนั้น สุชาติ วงศ์สุวรรณ (2542 :9–12)
ได้จัดแบ่งโครงงานออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ 4 ประเภท ตามลักษณะของการปฏิบัติหรือการได้มาซึ่งคำตอบ ดังนี้
4.1 โครงงานที่เป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูล
โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจนั้นมาจำแนกเป็นหมวดหมู่และนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีระบบ เพื่อให้เห็นถึงลักษณะหรือความสัมพันธ์ของเรื่องดังกล่าวได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การปฏิบัติตามโครงงานนี้ ผู้เรียนจะต้องไปศึกษา รวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น สอบถาม สัมภาษณ์ สำรวจ โดยใช้เครื่องมือ เช่น แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบบันทึกฯลฯในการรวบรวมข้อมูลที่ต้องการศึกษา
ในการทำโครงงานประเภทสำรวจข้อมูล ไม่จำเป็นจะต้องมีตัวแปรเข้ามาเกี่ยวข้อง นักเรียนเพียงแต่สำรวจรวบรวมข้อมูลที่ได้ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาจัดให้เป็นหมวดหมู่และนำเสนอ ก็ถือว่าเป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูลแล้ว
4.2 โครงงานที่เป็นการค้นคว้าทดลอง
โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ โดยการออกแบบโครงงานในรูปของการทดลองเพื่อศึกษาว่า ตัวแปรหนึ่งจะมีผลอย่างไรบ้างด้วยการควบคุมตัวแปรอื่นซึ่งอาจมีผลต่อตัวแปรที่ต้องการศึกษาไว้
การทำโครงการประเภทนี้จะมีขั้นตอนการดำเนินงานประกอบด้วยการกำหนดปัญหาการตั้งวัตถุประสงค์หรือสมมติฐานการออกแบบทดลองการรวบรวมข้อมูลการดำเนินการทดลอง การแปรผล และสรุปผลการทดลอง
4.3 โครงงานที่เป็นการศึกษาความรู้ ทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดใหม่
โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอความรู้ ทฤษฎี หลักการ แนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่ยังไม่มีใครคิดมาก่อน หรือขัดแย้ง หรือขยายจากเดิมที่มีอยู่ ซึ่งความรู้ ทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดที่เสนอ ต้องผ่านการพิสูจน์อย่างมีหลักการ หรือวิธีการที่น่าเชื่อถือตามกติกา / ข้อตกลงที่กำหนดขึ้นมาเอง หรืออาจใช้กติกาหรือข้อตกลงเดิมมามาอธิบายข้อความรู้ ทฤษฎี หลักการ แนวคิดใหม่ก็ได้โครงงานที่เป็นการศึกษา ความรู้ ทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดใหม่นี้ ผู้ทำโครงงานต้องเป็นผู้ที่มีความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างดี หรือต้องมีการศึกษา ค้นคว้า ข้อมูลมาประกอบอย่างลึกซึ้ง จึงจะทำให้สามารถกำหนดความรู้ ทฤษฎีหลักการหรือแนวคิดใหม่ๆขึ้นได้
4.4 โครงงานที่เป็นการประดิษฐ์คิดค้น
โครงงานประเภทนี้ เป็นโครงงานที่มีวัตถุประสงค์ คือ การนำเอาความรู้ ทฤษฎี หลักการ หรือแนวคิดมาประยุกต์ใช้ โดยการประดิษฐ์เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการเรียน การทำงาน หรือการใช้สอยอื่นๆ การประดิษฐ์คิดค้นตามโครงงานนี้อาจเป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ โดยที่ยังไม่มีใครทำ หรืออาจเป็นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือดัดแปลงของเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ รวมทั้งการสร้างแบบจำลองต่าง ๆ เพื่อประกอบการอธิบายแนวคิดในเรื่องต่าง ๆ โครงงานที่เป็นการประดิษฐ์คิดค้นนี้จะครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา สังคม อาชีพ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
เริงชัย จงพิพัฒนสุข (2542 : 21 ) ได้แบ่งโครงงานออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. โครงงานสำรวจข้อมูล จุดประสงค์เพื่อสำรวจรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังศึกษาหรืองานที่กำลังทำสำหรับนำมาพัฒนาปรับปรุงส่งเสริมให้กว้างขวางหรือได้ผลดียิ่งขึ้น
2. โครงงานศึกษาค้นคว้า จุดประสงค์เพื่อแสวงหาความรู้จากแหล่งวิทยาการต่างๆ เช่น ห้องสมุด สำนักงาน สถาบัน หรือผู้รู้ในสาขาวิชานั้น ๆ โดยตรง เป็นการฝึกฝนหาแนวทางในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง เพื่อนำมาเทียบเคียงกับความรู้ที่ได้โดยตรงจากตำรา หรือรายงาน เอกสารทางวิชาการ รวมทั้งการทดลองเพื่อค้นหาหรือตรวจสอบกฎ ทฤษฎีหรือข้อเท็จจริง ซึ่งผลจากการค้นคว้าทดลองอาจคลาดเคลื่อนไม่ครบถ้วนหรือละเอียดมากในบางแง่มุม เมื่อได้ปรับแก้ด้วยวิธีทางที่ถูกต้องจากผู้สอนแล้วก็จะเป็นแม่แบบแม่บทสำหรับการเรียนและการศึกษาค้นคว้าเพื่อแสวงหาความรู้ด้วยตนเองในระดับชั้นที่สูงขึ้นหรือในชีวิตจริง
3. โครงงานสร้างหรือพัฒนาชิ้นงาน จุดประสงค์เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์จากการสังเกต วิเคราะห์ เครื่องมือ เครื่องใช้ หรือกลวิธีในการจัดการต่าง ๆ แล้วพัฒนาหรือสร้างขึ้นใหม่เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคมตามความรู้ความสามารถที่มีอยู่ หรือที่ได้รับจากบทเรียนการพัฒนาหรือสร้างชิ้นงานนี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากทำโครงงานสำรวจข้อมูล และโครงงานศึกษาค้นคว้าทดลองมาก่อน เช่น การสร้างหรือพัฒนาเครื่องจักรกล การสร้างหรือพัฒนาระเบียบวิธีจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือผลิตผล การสร้างหรือพัฒนาระบบการจัดการเงินของธนาคารหรือ
สถาบันการเงินต่างๆเป็นต้น
จิรศักดิ์ กนกอุดม และ พรพิมล ผลวัฒนะ (2548 : 8-9 ) ได้กล่าวว่า โครงงานโดยทั่วไปแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ 4 ประเภท ได้แก่
1.โครงงานประเภทสำรวจหรือรวบรวมข้อมูล
ผู้เรียนที่จัดทำโครงงานประเภทนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่กำลังศึกษา หรืองานที่กำลังทำ โดยมีระบบในการจำแนกและนำเสนอเพื่อความชัดเจน วิธีการที่ใช้อาจจะเป็นการสัมภาษณ์ การใช้แบบสอบถาม การสำรวจจากสภาพจริง เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงหรือส่งเสริมให้ได้ผลดียิ่งขึ้น เป็นต้น
2.โครงงานประเภทศึกษาค้นคว้า
ผู้เรียนที่จัดทำโครงงานประเภทนี้ มีจุดประสงค์เพื่อแสวงหาความรู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พิสูจน์ทฤษฎีหรือเรื่องเล่าต่าง ๆ จากการศึกษาค้นคว้าทั้งจากแหล่งวิทยาการต่าง ๆ เช่น ห้องสมุด สถาบันการศึกษา แหล่งเรียนรู้ประเภทเอกสาร เช่น ตำรา รายงานการค้นคว้าทางวิชาการ หรือ เอกสารทางวิชาการหรือตัวบุคคล ได้แก่ ผู้ที่มีความรู้ในเรื่องนั้นโดยตรง ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงที่มีข้อมูลชัดเจนและเชื่อถือได้ ผลที่ได้จากการค้นคว้าอาจจะไม่สมบูรณ์ครบถ้วน แต่เมื่อได้ปรับปรุงแก้ไขด้วยวิธีการที่ถูกต้องจากผู้สอนแล้ว ก็สามารถเป็นแม่แบบแม่บทในการเรียนหรือการศึกษาค้นคว้าเพื่อแสวงหาความรู้ด้วยตนเองในระดับชั้นที่สูงขึ้นหรือนำไปใช้ในชีวิตจริงได้
3. โครงงานประเภททดลอง
ผู้เรียนที่จัดทำโครงงานประเภทนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ซึ่งการทดลองอาจจะมีหลายขั้นตอนเพื่อให้ได้ข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจในเบื้องต้นแล้วจึงศึกษาค้นคว้าต่อไป
4. โครงงานสิ่งประดิษฐ์
ผู้เรียนที่จัดทำโครงงานประเภทนี้ จะได้รับการส่งเสริมให้สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์หรือพัฒนาชิ้นงานโดยสิ่งที่ผู้จัดทำโครงงานจะได้รับคือ การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์จากการสังเกต วิเคราะห์กลวิธีในการจัดการต่าง ๆ แล้วพัฒนาหรือสร้างชิ้นงานขึ้นใหม่เพื่อสนองความต้องการของสังคมตามความรู้ความสามารถที่มีอยู่หรือที่ได้รับจากบทเรียน